ศูนย์ข้อมูลอาเซียนโรงเรียนวัดลานบุญ

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ข้อมูลและประวัติของประเทศไทย

 
ประเทศไทย

ชื่อทางการ   : ราชอาณาจักรไทย (The Kingdom of Thailand)
เมืองหลวง    : กรุงเทพมหานคร (Bangkok)
          รู้หรือไม่ ? ชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร คือ “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์
ศาสนาประจำชาติ   : ศาสนาพุทธ รองลงมาคือ อิสลาม คริสต์ และฮินดู
ดอกไม้ประจำชาติ   : ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek)
วันชาติ                   : 5 ธันวาคม
วันที่เป็นสมาชิกอาเซียน    : 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 (สมาชิกก่อตั้ง)
ภาษาประจำชาติ     : ภาษาไทย
ภาษาราชการ         : ภาษาไทย 

ลักษณะทางภูมิศาสตร์
          ตั้งอยู่ในอินโด – แปซิฟิก มีพื้นที่ประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซีย และเมียนมาร์
         
“ภูมิประเทศ”
          ทิศเหนือ        ติดกับเมียนมาร์และลาว
          ทิศตะวันตก    ติดกับทะเลอันดามันและเมียนมาร์
          ทิศตะวันออก  ติดกับลาวและกัมพูชา
          ทิศใต้            ติดกับอ่าวไทยและมาเลเซีย
         
          ประเทศไทยแบ่งออกเป็น 6 ภาค ซึ่งแต่ละภาคมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันดังนี้ ภาคเหนือ มีภูเขาสูง โดยจุดสูงสุดคือ ดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงแห้งแล้ง ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก ภาคกลาง เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด ภาคใต้ ติดทะเลสองฝั่ง มีจุดแคบสุดที่คอคอดกระ ภาคตะวันออก มีชายฝั่งทะเลเรียบขาวและโค้งเว้า ภาคตะวันตก เป็นหุบเขาและแนวเทือกเขา

“ภูมิอากาศ”
          แบบเขตร้อน แบ่งเป็น 3 ฤดู คือฤดูร้อน (ช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม) ฤดูฝน (ช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม) และฤดูหนาว (ช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์) ซึ่งภาคใต้ของประเทศจะแบ่งเป็น 2 ฤดูคือ ฤดูฝนและฤดูร้อน 


ประชากร
          มีจำนวนประชากรประมาณ 66 ล้านคน ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยเชื้อชาติหลักคือ ชาวไทย และชาวไทยเชื้อสายต่างๆ รองลงมาคือ ชาวจีนและอื่นๆ รวมถึงชนกลุ่มน้อยต่างๆ ด้วย
         
การเมืองการปกครอง
          ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยมีรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ประกอบด้วยสมาชิกผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่สังกัดพรรคการเมืองและมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
          ประเทศไทยแบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 76 จังหวัด ไม่นับรวมกรุงเทพฯ (จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดล่าสุดที่ได้ประกาศเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2554



เศรษฐกิจและทรัพยากรที่สำคัญ
          ไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ ถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ให้กับประเทศ แรงงานส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในภาคเกษตรกรรม มีข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญที่สุดของประเทศ ส่วนพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ได้แก่ ยางพารา ผักและผลไม้ต่างๆ รวมไปถึงการทำปศุสัตว์ นากุ้ง ประมงทางทะเล จนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก

ประวัติของประเทศไทย
          *ประวัติศาสตร์ชาติไทยเริ่มจากอาณาจักรสุโขทัยนับตั้งแต่ พ.ศ.1781 ซึ่งในอดีตนั้น ไทย มีชื่อว่า “สยาม” ซึ่งเป็นคำที่ชาวต่างชาติใช้เรียกอาณาจักรอยุธยาเมื่อราว พ.ศ.2000
          *ในขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมาก จนกระทั่งเสื่อมอำนาจ และเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310
          *พระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชและตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีอยู่ 15 ปี จนเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้สถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น โดยมีกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
          *ในสมัยรัชกาลที่ 5 การคุกคามของชาติตะวันตก ทำให้ไทยต้องยอมเสียดินแดนบางส่วนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อแลกกับเอกราช ซึ่งสยามถือเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติใด
          *24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ในสมัยรัชกาลที่ 7 คณะราษฎรได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย
          *วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” มาเป็น “ประเทศไทย”
          *ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยลงนามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นแต่เนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรให้การยอมรับ ขบวนการเสรีไทย ไทยจึงรอดพ้นจากประเทศผู้แพ้สงคราม
          *เมื่อถึงช่วงสงครามเย็น (ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ) ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แพร่ขยายไปทั่วภูมิภาคอาเซียน แต่ไทยก็สามารถรอดพ้นและยุติสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ไทยได้ใน พ.ศ.2523


ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.9ddn.com/content.php?pid=747

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น