ศูนย์ข้อมูลอาเซียนโรงเรียนวัดลานบุญ

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ข้อมูลและประวัติของประเทศอินโดนีเซีย


ประเทศอินโดนีเซีย

ชื่อทางการ             : สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia)
เมืองหลวง              : จาการ์ตา (Jakarta)
ศาสนาประจำชาติ   : ศาสนาอิสลาม
ดอกไม้ประจำชาติ   : กล้วยไม้ราตรี (Moon Orchid)
วันชาติ                   : 17 สิงหาคม
วันที่เป็นสมาชิกอาเซียน : 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 (สมาชิกก่อตั้ง)
ภาษาประจำชาติ     : ภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia)
ภาษาราชการ         : ภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia)


ลักษณะทางภูมิศาสตร์
          อินโดนีเซียมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5,070,606 ตารางกิโลเมตรแบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 1,904,443 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ทางทะเล 3,166,163 ตารางกิโลเมตร

“ภูมิประเทศ”
          ทิศเหนือ        ติดกับทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก
          ทิศตะวันตกเฉียงใต้    ติดกับมหาสมุทรอินเดีย
          ทิศตะวันออก ติดกับติมอร์ – เลสเต และปาปัวนิวกินี
          ทิศใต้            ติดกับทะเลติมอร์
          อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะมากที่สุดในโลกประมาณ 17,508 เกาะ แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วนคือ หมู่เกาะซุนดาใหญ่ หมู่เกาะซุนดาน้อย หมู่เกาะมาลุกุ และอีเรียนจายา

“ภูมิอากาศ”
          อินโดนีเซียอยู่ในเขตร้อนชื้นแบบศูนย์สูตร มี 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง (พฤษภาคม – ตุลาคม) และฤดูฝน (พฤศจิกายน – เมษายน)

ประชากร
          มีประชากรประมาณ 245 ล้านคน ประชากรมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ที่มีมากที่สุดคือ จาวา รองลงมาคือ ซุนดา มาดู มาเลย์ และยังมีชนชาติพื้นเมืองอื่นๆ ที่กระจายกันอยู่ตามเกาะต่างๆ
         
การเมืองการปกครอง
          อินโดนีเซียปกครองระบอบสาธารณรัฐแบบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร รวมทั้งเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยมีวาระการบริหารงาน 5 ปี และอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 สมัย สำหรับรัฐสภา จะประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนระดับภูมิภาค ซึ่งการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะมีสภาประชาชนระดับท้องถิ่น
          ประเทศอินโดนีเซียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 33 จังหวัด โดยเป็นเขตปกครองสถานะพิเศษ 5 จังหวัด คือ จาการ์ตา อาเจะห์ ยอกยาการ์ตา ปาปัว และปาปัวตะวันตก ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีเมืองหลวงหรือเมืองหลักอยู่ด้วย

เศรษฐกิจและทรัพยากรที่สำคัญ
          ในอดีตเศรษฐกิจของอินโดนีเซียพึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก แต่หลังเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันในตลาดโลก อินโดนีเซียจึงหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ การกลั่นน้ำมัน การต่อเรือ ประกอบรถยนต์ และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
          นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แร่ธาตุต่างๆ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ดีบุก และเหล็ก รวมทั้งมีภูมิประเทศที่เอื้อต่อการทำประมงจับสัตว์น้ำและทำเกษตรกรรม โดยปลูพืชแบบขั้นบันได พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยาสูบ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ โกโก้ และเครื่องเทศ


ประวัติ
          *ในอดีตอินโดนีเซียเป็นแหล่งเครื่องเทศที่สำคัญ จึงเป็นที่สนใจของชาวตะวันตก และตกเป็นอาณานิคมของประเทศเนเธอร์แลนด์นานกว่า 300 ปี
          *พ.ศ.2485 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ยึดครองอินโดนีเซียและขับไล่เนเธอร์แลนด์ออกไปได้สำเร็จ
          *17 สิงหาคม พ.ศ.2488 อินโดนีเซียถือโอกาสประกาศเอกราชเพราะญี่ปุ่นแพ้สงคราม โดยมี ซูการ์โน เป็นประธานาธิบดีคนแรก แต่เนเธอร์แลนด์ไม่ยอมรับและพยายามกลับเข้ายึดครองอินโดนีเซียอีก ทำให้เกิดการสู้รบกันอย่างรุนแรง
          *พ.ศ.2489 ทั้งสองฝ่ายลงนามเพื่อยุติความขัดแย้งใน ข้อตกลงลิงกัดยาติ (Linggadjati Agreement) แต่ภายหลังเนเธอร์แลนด์ละเมิดข้อตกลงโดยนำทหารเข้าโจมตีอินโดนีเซียอีก
          *ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2492 อินโดนีเซียจึงได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากสหประชาชาติกดดัน แต่เนเธอร์แลนด์ก็ไม่คืนดินแดนอิเรียนจายาตะวันตกให้ จนในที่สุดประชาชนในดินแดนนั้นได้ลงประชามติขอเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียต่อสหประชาชาติจึงสามารถรวมกันได้สมบูรณ์ใน พ.ศ.2506

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.9ddn.com/content.php?pid=766

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น